เมื่อพูดถึง Netflix เชื่อว่าหลายคนคงนึกถึงภาพของผู้ให้บริการสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่ที่อุดมไปด้วยออริจินัลซีรี่ย์ระดับคุณภาพที่ครองใจคนทั้งโลกอยู่มากมาย แต่นอกเหนือจากซีรี่ย์ที่เราคุ้นเคยแล้ว Netflix ยังเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ของตัวเองมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และภาพยนตร์ที่ดูเหมือนจะเป็นผลงานสร้างชื่อมากที่สุดคงหนีไม่พ้น ROMA ภาพยนตร์ที่คว้า 3 รางวัลใหญ่จากเวทีออสการ์มาครอบครองได้ในปีที่แล้วกับรางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม, ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และ กำกับภาพยอดเยี่ยม

และหลังจากที่ ROMA ได้รับความสำเร็จอย่างมหาศาลทั้งในแง่ของรางวัลและคำวิจารณ์ ล่าสุด Netflix ก็ได้ทำการเปิดตัวภาพยนตร์อย่าง The Irishman ออกมา ซึ่งคราวนี้ได้ผู้กำกับระดับบรมครูแห่งวงการภาพยนตร์อย่าง Martin Scorsese มารับหน้าที่ในการกำกับและดูแลการผลิตทั้งหมด อีกทั้งยังได้นักแสดงรุ่นใหญ่ที่เคยร่วมงานกันมาอย่าง Robert De Niro, Al Pacino และ Joe Pesci มาร่วมรับบทแสดงนำ ทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นที่ถูกจับตามองว่าจะเดินตามรอยความสำเร็จอย่างที่ ROMA เคยทำได้ไว้หรือไม่


The Irishman ดำเนินเรื่องผ่านการเล่าของชายชราชาวไอริช Frank Sheeran (รับบทโดย Robert De Niro) อดีตมือปืนของกลุ่มมาเฟียอิตาลี ที่กำลังนั่งอยู่บนรถเข็นและใช้เวลาช่วงสุดท้ายในชีวิตของตนเองอย่างโดดเดียวที่บ้านพักคนชรา และเล่าเรื่องเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมาทั้งหมดให้พวกเราได้ฟัง เริ่มต้นด้วยชีวิตอันพลิกผันของ Frank จากการเป็นทหารปลดประจำการซึ่งหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการเป็นคนขับรถบันทุก ที่มีเหตุการณ์ให้เขาได้รู้จักกับ Russell Bufalino (รับบทโดย Joe Pesci) มาเฟียผู้ทรงอิทธิพลแห่งฟิลาเดลเฟีย ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้ Frank ตัดสินใจทิ้งอาชีพพนักงานขับรถบรรทุกและหันมาจับปืนอีกครั้งในฐานะสมาชิกของกลุ่มและไต่เต้าจนกระทั่งได้กลายเป็นคนสนิทของ Russell ในที่สุด
จุดเปลี่ยนที่สำคัญของเรื่องคือการที่ Frank ได้ถูกแนะนำจาก ให้รู้จักกับ Jimmy Hoffa (รับบทโดย Al Pacino) ประธานสหภาพคนขับรถบรรทุกที่กำลังมองหาใครสักคนในการทำงานสกปรกเพื่อการควบคุมอำนาจของตัวเองในสหภาพ แต่ด้วยนิสัยที่เข้ากันได้ดีกันระหว่าง Frank และ Jimmy ทำให้ทั้งคู่กลายเป็นเพื่อนสนิทที่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน กระทั่งเกิดปัญหาความผิดใจกันระหว่าง Jimmy และกลุ่มมาเฟียอิตาลีจากฟิลาเดลเฟีย ซึ่งทำให้ Frank ต้องมีหน้าที่คอยเชื่อมความสัมพันธ์ของทั้งสองในฐานะคนกลางจนเป็นเหตุให้เกิดเหตุการณ์ตามมาอีกมากมาย

ซึ่งจากพล็อตที่เล่ามาในข้างต้น ทำให้ The Irishman ไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนักจากหนังแนวมาเฟียทั่วไป ซึ่งถ้าหากใครชอบดูหนังแนวดังกล่าวคงจะคุ้นเคยกับพล็อตเรื่องประมาณนี้เป็นอย่างดี แต่สิ่งที่ทำให้แตกต่างคือการที่ The Irishman เลือกที่จะดำเนินเรื่องผ่านตัวละครที่ไม่ใช่บอสใหญ่ระดับหัวหน้าแก็งค์ และไม่มีสิทธิ์ในการตัดสินใจเรื่องสำคัญใดๆ ถึงสิ้นแม้จะเป็นคนสนิทของหัวหน้าก็ตาม ทำให้ตลอดเวลาเราจะได้เห็นท่าทีที่กระอั่กกระอ่วนของ Frank ที่ไม่สามารถขัดคำสั่งและต้องทำไปด้วยความจำใจ รวมถึงหนังยังโฟกัสไปที่บทบาทการเป็นหัวหน้าครอบครัวของ Frank ที่ต้องคอยดูแลภรรยาและลูกสาวทั้ง 4 คน ด้วยความสัมพันธ์ที่เริ่มเปลี่ยนไปหลังจากที่เขากลายมาเป็นส่วนหนึ่งของแก็งค์มาเฟีย
เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยว่าความดีงามของหนังเรื่องนี้คืออะไร และเหตุใดจึงได้คะแนนเชิงบวกจากบรรดานักวิจารณ์ทุกสำนัก ทั้งที่บทหนังไม่ได้มีความหวือหวาหรือนักแสดงนำรุ่นใหญ่ทั้งสามคนก็ไม่น่าจะมีแรงดึงดูดจากแฟนหนังยุคนี้เท่าไรนัก ซึ่งคำตอบเดียวที่จะนิยามความยอดเยี่ยมของ The Irishman คือความกลมกล่อมในการนำเสนอที่จะทำให้คุณสัมผัสถึงทุกรสชาติที่ภาพยนตร์สักเรื่องควรมี


ตลอดความยาวหนังกว่า 3 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งถือว่าไม่ใช่เรื่องปกติสักเท่าไรนักสำหรับหนังในยุคนี้ ผู้กำกับอย่าง Martin Scorsese ได้แสดงให้เห็นแล้วว่างานภาพยนตร์ที่ไม่ถูกจำกัดด้วยเวลาที่ต้องตัดเพื่อเอาใจโรงหนัง สามารถใส่รายละเอียดอะไรลงไปได้บ้าง ซึ่งมันทำให้ผู้กำกับมีพื้นที่มากพอที่จะค่อยๆ ดึงอารมมณ์ร่วมจากผู้ชมด้วยการสร้างความผูกพันระหว่างตัวละครกับคนดูได้อย่างแนบเนียน ทำให้เราสิ้นข้อสงสัยในการตัดสินใจต่างๆ ของตัวละคร นั่นส่งผลให้บทสรุปของหนังถูกทำออกมาได้อย่างยอดเยี่ยมและเต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ที่จะทิ้งความหนักหน่วงคำถามมากมายที่ชวนให้เราคิดหลังจากที่หนังจบลง
และอีกหนึ่งความดีงามของ The Irishman ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือการแสดงของสามนักแสดงรุ่นใหญ่ ซึ่งทำให้เราได้เห็นถึงพลังของการแสดงที่สะท้อนให้เห็นถึงประสบการณ์อันโชกโชนตลอดอาชีพนักแสดง เพราะทั้งเรื่องเราจะไม่ได้เห็นการแสดงที่เล่นใหญ่หรือการเรียกน้ำตาใดๆ ทั้งสิ้น แต่พวกเขาใช้เพียงแค่การแสดงออกทางสีหน้าที่สามารถทำให้เราเห็นถึงอารมณ์และความรู้สึกของตัวละครได้อย่างชัดเจน ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกลื่นไหลและไม่ติดขัดแม้หนังจะตัดสลับการเล่าในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ซึ่งมันยอดเยี่ยมเสียจนอยากให้มีรายชื่อของพวกเขาในฐานะผู้เข้าชิงรางวัลบนเวทีออสการ์เลยทีเดียว

แต่หากจะพูดถึงข้อติสักเรื่องในภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้เขียนคงต้องย้อนไปถึงเรื่องระยะเวลา 3 ชั่วโมงครึ่งของหนังเรื่องนี้ ซึ่งต้องทำความเข้าใจก่อนว่ามันเป็นเรื่องยากมากที่เราจะมีสมาธิในการจดจ่ออยู่กับหนังสักเรื่องด้วยความยาวขนาดนี้ด้วยการนั่งชมบนโซฟาที่บ้าน แต่เมื่อคุณลองเริ่มดูไปสักพักจะสัมผัสได้ว่าหนังเรื่องนี้ใช้วิธีการเล่าโดยโฟกัสไปที่ตัวละครทีละตัวและเลือกที่จะจบประเด็นของแต่ละตัวละครไปทีละส่วนก่อนที่จะนำมาขมวดเข้าไปในช่วงสุดท้าย ซึ่งคุณสามารถเลือกที่จะแบ่งพาร์ทในการชมของตัวเองได้โดยที่ไม่เสียอรรถรสในการชมมากสักเท่าไรนัก แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าถ้าหากตัวหนังถูกทำให้กระชับกว่านี้เราจะยังรู้สึกดีกับหนังเรื่องนี้เหมือนเดิมหรือไม่
สำหรับภาพยนตร์เรื่อง The Irishman ในทรรศนะของผู้เขียนเปรียบได้กับอาหารที่ถูกปรุงด้วยวัตถุดิบชั้นยอดและพ่อครัวมากประสบการณ์ แต่โดยธรรมชาติของอาหารแล้วไม่ว่าจะถูกปรุงมาอย่างดีเลิศขนาดไหนก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นรสชาติที่ถูกปากทุกคน เพราะมนุษย์มีรสนิยมและความต้องการที่หลากหลาย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คุณอาจจะไม่ได้คิดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ยอดเยี่ยมแบบที่บรรดานักวิจารณ์พูดถึงและหนังเรื่องนี้ก็ไม่ใช่หนังที่จะสร้างมาเพื่อเอาใจทุกคนอย่างแน่นอน แต่ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าหนังเรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ทรงคุณค่าที่คอหนังทุกคนควรหาโอกาสชมให้ได้สักครั้ง