สืบเนื่องจากภารกิจเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับศิลปะ และวัฒนธรรมเครื่องประดับอัญมณี โรงเรียนอัญมณศิลป์ L’ÉCOLE Asia Pacific, School of Jewelry Arts มีความยินดีอย่างยิ่งที่จะนำเสนอนิทรรศการองค์ความรู้ครั้งใหม่ “ทรรศนาการรัตนชาติ ทับทิมกับไพลิน” (Discover the Gemstones, Ruby & Sapphire) ซึ่งจะเปิดให้สาธารณชนเข้าชมตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายนจนถึง 30 กันยายน 2020 นับจากเปิดดำเนินงาน สถาบันองค์ความรู้สาขาถาวรลำดับสองของตนขึ้นบนเกาะฮ่องกงเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา L’ÉCOLE Asia Pacific ได้ต้อนรับนักศึกษากว่าหลายพันคนผ่านบรรดาคอร์ส การศึกษา รวมถึงการจัดบรรยายกึ่งสนทนา และนิทรรศการ สำหรับวันนี้ สถาบันกำลังจัดเตรียมโอกาสใหม่ๆ ให้ผู้สนใจได้เข้าเรียนรู้ ทำความรู้จักกับความงดงามอันพรั่งพร้อมของรัตนชาติต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น
นิทรรศการครั้งนี้ ยังเป็นการร่วมงานเชิงภัณฑารักษ์ระหว่างโอลิวิเอร เชกูรา นักอัญมณีศาสตร์ และผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการประจำ L’ÉCOLE, School of Jewelry Arts กับบิลลี ฮิวจ์ส์ ช่างภาพเจ้าของรางวัลมากมาย อีกทั้งยังเป็นนักอัญมณศาสตร์แห่ง Lotus Gemology ผู้เข้าชมจะรู้สึกราวกับตนกำลังเริ่มออกเดินทางค้นหา และได้พบกับบรรดาทับทิมกับไพลินแบบต่างๆ อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ระหว่างการเดินทางครั้งนี้ หนึ่งในสิ่งซึ่งน่าหลงใหล ประทับใจทั้งหลายที่พวกเขาจะได้พานพบนั้นก็คือ ข้อเท็จจริงที่ว่า รัตนชาติเลอค่าทั้งสองชนิดนี้ ต่างเป็นพลอยในตระกูลคอรันดัม อีกทั้งยังมีโครงสร้าง และองค์ประกอบเคมีคล้ายคลึงกันอย่างยิ่ง สิ่งซึ่งทำให้ทับทิมมีสีแดงสดเจิดจ้า หรือไพลินมีสีสันมากมายนอกเหนือจากน้ำเงินสุกสกาวนั้น ถูกกำหนดขึ้นจากปริมาณเคมีธาตุในสัดส่วนต่างๆ กันของรัตนชาติแต่ละเม็ด



นิทรรศการเพื่อการเรียนรู้อย่างมีปฏิสัมพันธ์ อาศัยการใช้ภาพถ่ายต่างๆ จากฝีมือของบิลลี ฮิวจ์ส์ เพื่ออำนวยให้ผู้เข้าชมสามารถแลเห็นเครื่องหมายประจำตัวตามธรรมชาติตั้งแต่ถือกำเนิดของพลอยเหล่านั้นอย่างใกล้ชนิด อีกนัยหนึ่ง ทุกคนจะได้มองเห็น “สารฝังในต่างๆ” ของหินแร่เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการจับภาพฉัพพรรณรังสีเหลือบรุ้งอย่างทรงเอกลักษณ์ในน้ำพลอยของทับทิมพม่า ผลึกคริสตัลหลากแฉกเหมือนเกล็ดละอองหิมะในไพลินจากมาดากัสการ์ หรือกระทั่งลวดลายเหลี่ยมดาวจรัสประกายสุกสกาวจากภายในทับทิมรัศมีหกแฉก ล้วนงดงามเกินจินตนาการ บรรดารอยตำหนิ หรือสารฝังในทั้งหลายนี้ ยังเป็นร่องรอยสำคัญสำหรับใช้สืบย้อนหาตำแหน่งแหล่งกำเนิด หรือรกรากที่มาของพลอยแต่ละเม็ด อีกทั้งยังใช้เป็นข้อมูลตรวจสอบว่าเป็นพลอยธรรมชาติ หรือสังเคราะห์ รวมกระทั่งใช้ในการประเมินกรรมวิธี หรือกระบวนการตกแต่งต่างๆ ที่รัตนชาติเม็ดนั้นๆ ต้องเผชิญ จากผลงานของฮิวจ์ส์ ผู้เข้าชมนิทรรศการสามารถค้นพบมิติล้ำลึกระดับอณูอันเปรียบเสมือนชีวิตมหัศจรรย์อีกด้านที่ซุกซ่อนอยู่ภายในพลอยน้ำงามทั้งหลาย
เพื่อแสดงให้เห็นถึงจุดบรรจบระหว่างของขวัญเลอค่าจากธรรมชาติกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ของมวลมนุษยชาติ ภาพถ่ายในนิทรรศการครั้งนี้ได้รับการจับวางประกบเคียงกับทับทิม และไพลินในรูปแบบของทั้งพลอยดิบตามธรรมชาติ และผ่านการเจียระไนอย่างวิจิตรบรรจง ตลอดจนเหล่าเครื่องประดับอัญมณีชั้นสูง ทั้งที่เป็นผลงานมรดก และผลงานร่วมสมัยจากสถาบันผู้ผลิตเครื่องประดับอันโด่งดังแห่งต่างๆ ในฐานะส่วนหนึ่งของทรรศนาการองค์ความรู้ คณาจารย์สำหรับนิทรรศการของ L’ÉCOLE ครั้งนี้โดยเฉพาะ จะรับหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์คอยให้คำแนะนำ และคำอธิบายต่างๆ แก่กลุ่มผู้เข้าชม อย่างเช่นวิธีตรวจหาร่องรอยเชิงธรณีวิทยาภายในรัตนชาติทั้งหลายด้วยตาเปล่า ร่วมกับการใช้เครื่องมือเชิงธรณีวิทยาอย่างแว่นขยายของช่างทำเครื่องประดับ และกล้องจุลทรรศน์ รวมถึงสาธิตให้ดูว่า พลอยเหล่านั้นถูกแปรรูปผ่านน้ำมือของช่างเจียระไนผู้ชำนาญได้อย่างไร ไปจนถึงขั้นตอนการฝังอัญมณีขึ้นตัวเรือนเครื่องประดับ โดยอาศัยทักษะความชำนาญระดับหัตถศิลป์ชั้นสูง นิทรรศการครั้งนี้